เดินหน้าสอบ TGAT-TPAT ในระบบทีแคส’66 ผ่านคอมพ์ปีแรก

เดินหน้าสอบ TGAT-TPAT ในระบบทีแคส’66 ผ่านคอมพ์ปีแรก

จากกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เตรียมปรับข้อสอบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2566 โดยปรับการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT เป็น TGAT และ TPAT และปรับ 9 วิชาสามัญ มาวัดความรู้เชิงวิชาการ Applied Knowledge Level หรือ A-Level รวม 15 วิชาแทน โดยการสอบ TGAT และ TPAT จะให้ผู้สอบเลือกสอบด้วยกระดาษ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ ทปอ.จัดสอบคัดเลือกผ่านคอมพิวเตอร์นั้น

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการของ ทปอ.เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทปอ.จัดทำข้อสอบ TGAT และ TPAT เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะจัดให้มีการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ คู่ขนานไปกับการสอบด้วยกระดาษ

ทั้งนี้ การสอบทั้ง 2 รูปแบบ จะใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน จัดสอบตามวัน และเวลาเดียวกัน โดยที่สนามสอบจะติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เบสไว้

“ที่ต้องทำ 2 ระบบ แทนที่จะปรับเป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เนื่องจากผู้ปกครองยังกังวลว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กบางคนยังไม่มีสกิลการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ที่ดีพอ ดังนั้น ในช่วงแรก ทปอ.จึงจัดสอบ 2 ระบบไปก่อน โดยปี 2566 จะจัดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ 2-4% และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีถัดไป การปรับครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบจัดสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตอาจเปิดให้นักเรียนสามารถสอบได้หลายครั้ง และเลือกคะแนนครั้งที่ดีที่สุด มายื่นเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนทีแคสจะเป็นเพียงระบบที่ดำเนินการเคลียริ่งเฮาส์การคัดเลือกในแต่ละรอบ” รศ.ดร.ชาลี กล่าว

รศ.ดร.ชาลีกล่าวต่อว่า สำหรับการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีข้อดีคือ สามารถประมวลผลได้เร็ว หลังการสอบวิชาสุดท้าย 3 วัน สามารถประกาศผลสอบได้ทันที เพราะลดระยะเวลาการจัดส่งข้อสอบ และการจัดเก็บกระดาษคำตอบออกไปทั้งหมด

ขณะเดียวกันยังลดปัญหากรณีนักเรียนฝนกระดาษคำตอบผิดข้อ เพราะโจทย์ และคำตอบ จะอยู่ในข้อเดียวกัน ไม่เหมือนการสอบด้วยกระดาษ ที่กระดาษคำถาม และกระดาษคำตอบ จะแยกกัน อาจทำให้ฝนคำตอบผิดข้อได้ รวมถึง ลดข้อผิดพลาดในการประมวลผล

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

โดยที่ผ่านมาจะเกิดปัญหานักเรียนต้องการเปลี่ยนคำตอบ โดยลบคำตอบเดิม แต่ยังมีรอยดินสออยู่ ทำให้ระบบไม่ประมวลผล และยังแก้ปัญหากรณีนักเรียนลืมทำข้อสอบ เพราะก่อนจะคลิกส่ง จะมีระบบเตือนกรณีนักเรียนลืมทำข้อสอบข้อใดข้อหนึ่ง

“ระบบนี้มีใช้ในหลายประเทศ ทั้งฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ในการสอบรับผู้พิพากษา และทนายความ ขณะที่ไทยเองก็ใช้ในการสอบเข้ารับราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพราะถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงไม่อยากให้กังวล เพราะ ทปอ.จัดทำมาตรการป้องกันการทุจริต รวมถึง การแฮกข้อสอบไว้อย่างแน่นหนา มีรหัสล็อกทั้งหมด 3 ชั้น” รศ.ดร.ชาลี กล่าว

รศ.ดร.ชาลีกล่าวต่อว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมนักเรียนให้คุ้นเคยกับการสอบด้วยคอมพิมเตอร์นั้น ภายใน 1-2 เดือนนี้ จะเปิดให้นักเรียนได้ทดลองสอบผ่าน www.mytcas.com จากนั้นจะเริ่มรับสมัครในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยก่อนการสอบประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเชิญเด็กที่สมัครสอบด้วยคอมพิวเตอร์ไปดูสถานที่สอบจริง และทดลองสอบเพื่อให้เกิดความเคยชิน ดังนั้น ก่อนถึงวันสอบจริงในเดือนธันวาคม 2565 เด็กมีโอกาสทดสอบระบบการสอบด้วยคอมพิวเตอร์หลายครั้ง เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหา

ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับข้อสอบ และวิธีการจัดสอบ เชื่อว่าจะคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่ให้นักเรียนสามารถเลือกสอบทางคอมพิวเตอร์ได้นั้น ถือเป็นการปรับตัว

โดยมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนช่วยในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ก็ถือว่าเหมาะสม และคิดว่าตัวนักเรียนเองมีความคุ้นเคยกับระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว

“การสอบด้วยคอมพิวเตอร์จะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม รวมถึง ต้องมีมาตรการป้องกันในเรื่องของการแฮกข้อมูล หรือข้อสอบด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกันจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็เตรียมพร้อม และใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดสอบในบางรายวิชาบ้างแล้ว” ดร.จงรัก กล่าว

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ heronbeck.com

UFA Slot

Releated